นอนกรนรักษาได้ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด

คุณเคยมีอาการอย่างนี้กันบ้างไหม
– นอนตื่นสายทั้งๆ ที่เมื่อคืนก็ไม่ได้นอนดึก
– นอนมาก ตื่นก็สาย แต่ทำไมไม่สดชื่น แถมมีอาการง่วงๆ ซึมๆ อีกต่างหาก
– หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย ความสามารถในการจำลดลง
– ตกบ่ายก็เกิดอาการหาว และอยากนอน

ไม่ว่าเพศใด วัยใด น้ำหนักขนาดไหน ถ้าหากมีอาการที่มีลักษณะเหมือนกัน หรือใกล้เคียงกับอาการต่างๆ เหล่านี้ ควรสังเกตตนเองและพูดคุยกับคนใกล้ชิดว่าอาการเหล่านี้เป็นมากน้อยเพียงใด และควรใส่ใจสุขภาพตนเองมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้น “การนอน จะไม่ใช่การพักผ่อนที่ดีที่สุด” ของคุณอีกต่อไป

นอนกรนการนอนหลับที่ปกติเป็นเรื่องของธรรมชาติอย่างหนึ่ง รวมถึงการ “นอนกรน” แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้รับรู้ว่าการ “นอนกรน” มีอันตรายต่อสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิดอย่างมาก จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นคน “นอนกรน” เรื่องนี้ง่ายมากๆ นั่นคือ ถามคนใกล้ชิด (ไม่ว่าจะเป็น สามี ภรรยา หรือลูกหลานก็ได้) ถ้าไม่เชื่อก็ควรให้คนใกล้ชิดบันทึกเสียงขณะหลับไว้เปิดฟังในเวลาตื่นนอน ว่าเสียง “นอนกรน” ของตนรบกวนคนอื่นขนาดไหน คราวนี้แหละ รู้แน่ๆ ว่า “นอนกรน” รบกวน คนใกล้ชิดมากน้อยขนาดไหน และตนเองจะมีอันตรายอะไรบ้าง ทำอย่างไรถึงจะไม่ “นอนกรน” อีกต่อไป

นอนกรนคืออะไร

นอนกรน คือ ความผิดปกติของการนอน มี 2 ชนิด ดังนี้
1. ชนิดไม่อันตราย ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เพียงแต่ก่อความรำคาญให้คนใกล้ชิดเท่านั้น
2. ชนิดอันตราย นั่นคือ หยุดหายใจขณะหลับ อันเนื่องมาจากมีการอุดตันของทางเดินหายใจขณะหลับ ภาวะอุดตันทางเดินหายใจส่วนบน และระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ

นอนกรน ชนิดไม่อันตราย

ในขณะที่คนเรานอนหงายและหลับสนิท เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ในช่องคอ เช่น ลิ้น ลิ้นไก่ เนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อนจะตกไปทางด้านหลัง ในคนที่ช่องคอแคบกว่าปกติ เนื้อเยื่อเหล่านี้จะขวางกั้นทางเดินผ่านของอากาศจึงเกิดเสียงกรนขึ้น เสียงกรนเหล่านี้จะรบกวนคนที่นอนด้วยทำให้เกิดความรำคาญ หรือในรายที่อาการกรนตั้งแต่เริ่มหลับอาจรบกวนกระบวนการการนอนของผู้ป่วยเอง ทำให้นอนสะดุ้งบ่อยจากเสียงกรนของตนเอง

นอนกรน ชนิดอันตราย-หยุดหายใจขณะหลับ

ในภาวะที่ผู้ป่วยมีช่องลำคอตีบมากจากอวัยวะต่างๆ ในช่องคอ เช่น ลิ้น ลิ้นไก่ เพดานอ่อนหย่อนยานมากมีการขวางทางเดินหายใจจนถึงขนาดอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการกรนไม่สม่ำเสมอ กรนเสียงดังมาก อาจมีอาการสำลักน้ำลาย หรือสะดุ้งตื่นกลางดึก หรือมีอาการหายใจหอบเหมือนอาการขาดอากาศ การขาดอากาศบ่อยครั้งทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องต่อสุขภาพ ร่างกายหลายอย่าง